ปรับปรุงเนื้อหาล่าสุดเมื่อ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 | เวลา 15.25 น.
 



 

                    ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ม.ป.ป.: ออนไลน์) ได้อธิบายความเป็นมาของแนวทางในการพัฒนาความเป็นเลิศของอาจารย์ในด้านการสอน โดยเกณฑ์ UKPSF ไว้ดังนี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตครูมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาชื่อเสียงด้านนี้ของมหาวิทยาลัยให้คงอยู่ ซึ่งการมีคณาจารย์ที่มีคุณภาพจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต โดยการจัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นให้นิสิตมีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ มีความคิดริเริ่ม เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และทักษะสื่อสาร อันเป็นหลักการที่ก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการปรับตัว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลก และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ที่ได้ส่งเสริมให้นิสิตฝึกทักษะเหล่านี้ในระดับอุดมศึกษา จะหล่อหลอมนิสิตให้เรียนรู้ในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาที่จะเผชิญในชีวิตจริง และออกไปรับใช้สังคมในศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี

                    ในปี 2561 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำ “แนวทางการส่งเสริมสมรรถนะและประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา” เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาศักยภาพของตน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ประยุกต์มาจาก กรอบการพัฒนาอาจารย์ในต่างประเทศ เช่น ในสหภาพยุโรป และออสเตรเลีย สำหรับระบบที่ประเทศไทยได้นำมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมสมรรถนะของอาจารย์ในประเทศไทย ได้แก่ กรอบการพัฒนาอาจารย์ระดับอุดมศึกษาของประเทศสหราชอาณาจักร The UK Professional Standards Framework for Teaching and Supporting Learning in Higher Education (UKPSF) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งที่มีการยอมรับกันทั่วโลกจากประเทศต่าง ๆ ในการนำไปใช้ โดยทางสถาบัน Advance Higher Education (Advance HE) ของประเทศอังกฤษมีหน้าที่เป็นผู้ให้การอบรมและรับรองคุณภาพของอาจารย์ และ มศว ได้เลือก UKPSF เป็นกรอบในการพัฒนาอาจารย์

                    ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้ง 3/2563 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติให้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒใช้กรอบมาตรฐาน UKPSF เป็นแนวทางในการพัฒนาความเป็นเลิศของอาจารย์ในด้านการสอน โดยเกณฑ์ UKPSF เน้นสมรรถนะ 3 ด้านคือ องค์ความรู้ (Knowledge) สมรรถนะ (Competencies) และ ค่านิยม (Values) โดยการรับรองสมรรถนะอาจารย์ และแบ่งคณาจารย์ตามความเชี่ยวชาญออกเป็น 4 ระดับ (ซึ่งใกล้เคียงกับแนวทางของ สป.อว. ที่แบ่งเป็น 4 ระดับ) คือ

                                        AFHEA - Associate Fellow of the Higher Education Academy
                                        FHEA - Fellow of the Higher Education Academy
                                        SFHEA - Senior Fellow of the Higher Education Academy
                                        PFHEA - Principal Fellow of the Higher Education Academy

                    โดยในปี 2561 มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการโครงการนำร่อง รุ่นที่ 1 ในการอบรมให้ความรู้เรื่องเกณฑ์ และการเขียนขอรับรอง โดยได้เชิญวิทยากรของ AdvanceHE ประเทศสหราชอาณาจักร มาให้การอบรมอาจารย์ที่มีศักยภาพ และได้รับประกาศนียบัตรรับรองสมรรถนะ ระดับ SFHEA จำนวน 21 คน และระดับ PFHEA 1 คน

                    ในปี 2563 ดำเนินการรุ่นที่ 2 และ 3 โดยมหาวิทยาลัยได้ให้อาจารย์ที่ได้รับรองสมรรถนะ SFHEA ในรุ่นที่ 1 มาเป็นผู้อบรม และเป็น mentor ช่วยในการเขียนสมัครรับรองสมรรถนะ ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีจำนวนอาจารย์ที่ได้รับรองสมรรถนะ ระดับ SFHEA และ ระดับ FHEA เพิ่มขึ้น

รายการอ้างอิง
ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  (ม.ป.ป.).  SWU-BEST เป็นนโยบายในการพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒให้มีความเป็นเลิศในด้านการสอน
            สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2563, จาก http://academic.swu.ac.th/Default.aspx?tabid=19884


                    ตั้งแต่ปี 2562 สำนักนวัตกรรมการเรียนรู้ มีอาจารย์ที่ได้รับการรับรองสมรรถนะการสอนตามกรอบ UKPSF ในระดับ SFHEA และ FHEA ได้แก่

                    🎖ระดับ SFHEA : Senior Fellow of the Higher Education Academy
                                        1. ผศ.ดร.จิตต์ภิญญา ชุมสาย ณ อยุธยา
                                        2. ผศ.ดร.กมลวรรณ คารมปราชญ์ คล้ายแก้ว
                                        3. รศ.ดร.ชนัตถ์ พูนเดช
                                        4. ผศ.ดร.ธนิตา เลิศพรกุลรัตน์
                                        5. อ.ดร.เมทินี ทนงกิจ




                    🎖ระดับ FHEA : Fellow of the Higher Education Academy
                                        1. รศ.ดร.ธงชัย แก้วพินิจ
                                        2. อ.ดร.พิชชาดา ประสิทธิโชค
                                        3. อ.ดร.อรุโณทัย พยัคฆพงษ์
                                        4. อ.ดร.ณภัทรรัตน์ ไชยอัครกัลป์
                                        5. อ.รณยุทธ เอื้อไตรรัตน์
                                        6. อ.ดร.จิตสุภา กิติผดุง